Last updated: 3 ส.ค. 2564 | 1312 จำนวนผู้เข้าชม |
"ไม่ว่าจะเป็น โครงหลังคาเหล็ก หรือ โครงหลังคาสำเร็จรูป สามารถออกแบบสำหรับการมุงหลังคาด้วยวัสดุต่าง ๆ ได้ทุกประเภท หากแต่ควรเลือกใช้ให้เข้ากับการใช้งาน และรูปแบบหลังคาอย่างเหมาะสมด้วย"
ถัดจากโครงสร้างหลักในงานก่อสร้างบ้านหนึ่งหลัง ลำดับต่อไปคือการขึ้นโครงหลังคาซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน ถึงแม้จะมีไว้เพื่อรับน้ำหนักวัสดุมุงหลังคาและอุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ เท่านั้น แต่หากโครงหลังคาไม่แข็งแรงเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นขนาดที่เหมาะสม รวมถึงการเชื่อมต่อยึดติดให้แน่นหนา แน่นอนว่าจะส่งผลต่อผืนหลังคาตั้งแต่ปัญหาการรั่วซึมเล็กน้อยไปจนถึงอันตรายสูงสุดคือพังทลายลงมา
แบบโครงสร้างหลังคาที่ใช้กันมากในปัจจุบันคงหนีไม่พ้น “แบบโครงสร้างหลังคาเหล็ก” รวมถึง “แบบโครงหลังคาสำเร็จรูป” ที่กำลังเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งความแตกต่างด้านคุณสมบัติ มาตรฐาน และการใช้งานในลักษณะต่าง ๆ ก็มีอยู่พอสมควร การเลือกใช้แบบโครงสร้างหลังคาจึงควรพิจารณาตามความเหมาะสมของหลังคาบ้านแต่ละรูปแบบ
สำหรับโครงหลังคาเหล็กที่ใครหลาย ๆ คนคุ้นเคยดีกับรูปแบบหน้าตัดเหล็กต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เหล็กกล่อง และเหล็กรูปตัวซี ซึ่งสามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านค้าเหล็กรูปพรรณต่าง ๆ จึงเป็นที่นิยมสำหรับผู้รับเหมา และช่างที่ชำนาญในงานเหล็ก เพราะเมื่อขาดเหลือระหว่างการทำงานก็วิ่งจัดหามาทำงานต่อได้ไม่ยาก แต่สิ่งหนึ่งที่ควรระวังคือเรื่องคุณภาพของเหล็ก เนื่องจากเหล็กที่หาซื้อได้ง่ายตามร้านค้าทั่วไป
ส่วนใหญ่นั้นมักเป็นเหล็กรีดซ้ำ หรือเหล็กที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลที่เรียกกันว่า “เหล็กเบา” ซึ่งมีราคาประหยัด แต่มีประสิทธิภาพในการรับแรงด้อยกว่าเหล็กตามมาตรฐานที่เรียกว่า “เหล็กเต็ม” พอสมควร ดังนั้นจึงควรตรวจสอบเหล็กที่นำมาใช้ทำโครงหลังคา โดยสังเกตที่เครื่องหมาย มอก. หรือเครื่องหมายแสดงมาตรฐานอื่นๆ เช่น ASTM, BSI, JIS ฯลฯ ซึ่งจะระบุอยู่ที่เหล็กแต่ละท่อน
การติดตั้งโครงหลังคาเหล็กจะเป็นการติดตั้งหน้างานทั้งหมด และต้องอาศัยความชำนาญของช่างที่มีประสบการณ์มากพอสมควร จึงจะได้งานเชื่อมติดตั้งเหล็กที่แข็งแรง การเชื่อมเหล็กแต่ละท่อนให้ติดกันแบบที่เรียกว่า “การเชื่อมเต็ม” เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากไม่แพ้คุณภาพของเหล็ก โดยในขั้นตอนแรกของการเชื่อมเหล็กโครงหลังคาจะเป็น “การเชื่อมแต้ม” เพื่อยึดเหล็กแต่ละท่อนไว้ก่อนคร่าว ๆ เผื่อมีการแก้ไขจะได้เคาะแนวรอยเชื่อมเพื่อขยับตำแหน่งเหล็กได้ หลังจากนั้นจึงจะทำการเชื่อมเต็มหน้าตัดเหล็ก ซึ่งผู้ควบคุมงานควรตรวจสอบรอยเชื่อมทุกจุดว่าหนาแน่นเป็นเกล็ดปลาเรียบร้อยดีหรือไม่ โดยเจ้าของบ้านก็สามารถช่วยตรวจสอบในเบื้องต้นเองได้